รีวิวเที่ยววัดเจดีย์หลวงวรวิหารอัพเดทปี 2021 – เที่ยววัดดังในเชียงใหม่

เชียงใหม่เป็นจังหวัดหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่ามีวัดสวยๆอยู่หลายแห่ง แต่ละวัดมีสไตล์ทางด้านศิลปะที่แตกต่างกันไป และขึ้นชื่อว่าหัวเมืองเหนือ แน่นอนล่ะว่า สไตล์วัดวาอารามต้องผสมผสานศิลปะแบบล้านนาแน่แท้ หรือไม่ก็อาจเป็นศิลปะล้านนาเดี๋ยวๆเข้มๆเลยก็ได้ ถ้าพูดถึงเรื่องวัด เคยตั้งคำถามกันไหมว่า ทำไมบางวัดถึงมีคนหลั่งไปกราบสักการะเยอะมาก ทั้งๆที่วัดอื่นๆบริเวณการเคียงกันก็มี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ชาวไทยเรามีความเชื่อว่าหากไปสักการะวัดดัง จะมีความเป็นสิริมงคลมากกว่าวัดอื่นๆ ตรงนี้จริงไหมไม่รู้ แต่ที่รู้ๆวัดในเชียงใหม่เขาปังจริงๆ ปังถึงขนาดว่าชาวจีนยังบินมากราบสักการะ และแวะเวียนมาถ่ายรูปอยู่บ่อยๆ เอาล่ะวัดในเชียงใหม่ที่ทางเราขอแนะนำให้คุณเข้าไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สักครั้งให้ได้ในชีวิตนี้ ก็คือ “วัดเจเดีย์หลวงวรวิหาร”

ขอบคุณภาพจากวัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร หรือที่ชาวไทยนิยมเรียกกันสั้นๆว่า “วัดเจดีย์หลวง” ความสำคัญของวัดนี้มีไม่น้อย เพราะเป็นวัดที่มีพระธาตุสูงสุดในภาคเหนือเชียวนะ สูงมากถึง 80 เมตร แถมประวัติความเป็นมาของวัดแห่งนี้ไม่ธรรมดาซะด้วย เพราะแท้จริงแล้ว วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พญากือนานั่นเอง เดิมทีนั้นฐานของพระธาตุแห่งนี้ไม่ได้กว้างเหมือนกับในปัจจุบัน เพียงแต่ว่าภายหลังได้มีการปฏิสังขรณ์และขยายฐานให้ใหญ่โตขึ้น ถึงแม้ว่าใหญ่โตมั่นคงขนาดไหนก็มิอาจต้านทานภัยธรรมชาติได้ ทำให้พระธาตุถูกธรรมชาติถล่มลงเหลือเพียงครึ่งองค์ ภายหลังนกรมศิลปากรได้เข้ามาทำการบูรณะ จึงเห็นเป็นเฉกเช่นปัจจุบัน 

ก่อนเดินเข้าวัดอยากให้โฟกัสกับซุ้มประตูทางเข้าสักนิด เพราะประตูที่วัดแห่งนี้ออกแบบประตูให้อารมณ์กึ่งวัดกึ่งประตูพระราชวังสมัยก่อน มีการตกแต่งด้วยความประณีต ใช้พื้นที่ขาวสลักลายด้วยสีทองอร่าม มีการนำรูปปั้นมาตกแต่งเพิ่มความสวยงาม มีพญานาคสัตว์มงคลประดับทั้งสองฝั่งซ้ายขวา ประตูเป็นไม้ใช้แบบผลัก ทาสีแดงเข้มเสมือนประตูตามพระราชวังจีนในละครยังไงยังงั้นเลย แค่ประตูก็ให้ความรู้สึกที่หลากหลายแล้ว

ขอบคุณภาพจาก

ถ้ามาถึงวัดเจดีย์หลวงแล้ว แน่นอนว่าทางเราอยากเชื้อเชิญให้ยกมือกราบสักการะพระธาตุสักหน่อย เพราะพระธาตุแหง่นี้สวยจริง ดูมีมนต์ขังอย่างไม่สามารถอธิบายได้ แม้จะหักแหว่งไปบ้างตามกาลเวลา แต่บอกเลยว่ายังคงให้ความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์และน่าเคารพบูชาอยู่เสมอ แนะนำว่าให้เดินดูรอบๆแล้วคุณจะเห็นรายละเอียดของพระธาตุองค์นี้อย่างชัดเจน อิฐสมัยโบราณที่เรียงรายซับซ้อนกันมีความแข็งแรงมาก ผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว แต่ดูเหมือนอิฐบางก้อนยังคงสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ 

ขอบคุณภาพจาก

คราวนี้มาแยกส่วนดูกันสักหน่อยดีกว่า เริ่มตัวฐาน ฐานพระธาตุแห่งนี้เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างประมาณ 60 เมตร มีพื้นที่ของฐานประมาณ 3,600 ตารางเมตร เล่นระดับเป็นชั้นเชิง จากใหญ่ไปเล็ก ว่ากันว่าสร้างตามจักรวาลวิทยา คือถ้าขีดทิศทั้งแปดมาพบกันตรงนี้ก็เป็นที่ตั้งของพระธาตุองค์นี้พอดีเป๊ะๆ และทิศต่างๆที่ว่าทั้งแปดทิศนั้น ล้วนแต่มีวัดล้อมรอบทั้งนั้น จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมพระธาตุแห่งนี้จึงถูกสร้างให้ใหญ่โตกว่าพระธาตุของวัดอื่นๆในเชียงใหม่ เป็นเพราะเกี่ยวกับเรื่องชัยภูมินี่เอง 

ขอบคุณภาพจาก

บนตัวพระธาตุมีบันได บางจุดขอเรียกทางลาดชันจะดีกว่า เพราะกาลเวลาและธรรมชาติเปลี่ยนจากบันได ให้กลายมาเป็นทางลาดชัน ไม่ว่าจะบันไดหรือทางลาดชันล้วนเสมือนเอาไว้เดินมุ่งสู่สรวงสวรรค์ก็ว่าได้ ทางลาดทุกจุดล้วนพาไปยังจุดหมายเดียวกัน ก็คือใจกลางองค์พระธาตุนั่นเอง แต่คุณไม่สามารถเดินขึ้นไปนะ เพราะทางวัดไม่อนุญาตให้เดินขึ้นไป อาจเป็นเพราะหลายๆเหตุผล และเชื่อว่าทุกเหตุผลล้วนมีเจตนารมณ์ที่ดีแฝงอยู่ อนึ่งก็เพื่อเป็นการรักษาตัวพระธาตุให้คงทนได้นานที่สุด เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้มาสักการะบูชาต่อไป ส่วนตีนบันได้นั้นมีรูปปั้นหัวพญานาคทั้งสองฝั่ง ส่วนลำตัวพาดยาวไปจนสุดบันได (ราวจับบันได)

ขอบคุณภาพจาก

ระหว่างบันไดแต่ละจุด เกือบๆจุดสิ้นสุดขั้นบันได มีช้างประจำอยู่หนึ่งโขลง จะเห็นได้ว่าช้างถูกให้ความสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาล จึงไม่แปลกที่ทำไมในประวัติศาสตร์ชาติไทยเรา มีการบันทึกเกี่ยวกับช้าง รวมทั้งแต่งตั้งยศถาบรรดาศักดิ์ให้กับช้าง ถ้าสังเกตดีๆ คุณจะเห็นว่าช้างทุกตัวมีลักษณะเหมือนกำลังทะลุอิฐออกมา โผล่ออกมาเพียงส่วนครึ่งตัวหน้าเท่านั้น   

ขอบคุณภาพจาก

ถามว่าช่วงไหนที่ควรมาที่สุด บอกเลยว่าจากประสบการณ์ ให้มาช่วงเดือน พฤษภาคม ไม่ใช่ว่าเดือนอื่นมาไม่ได้นะ เดือนอื่นก็มาได้ค่ะ แต่ถ้ามาตรงกับเดือนพฤษภาคม คุณๆจะได้รับชมและร่วมประเพณีของชาวเชียใหม่ด้วย นั่นก็คือการใส่บาตรดอกไม้ หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่าใส่ขันดอกนั่นเอง ช่วงนี้แหละ ทั้งทางวัด และชาวบ้านจะช่วยกันประดับประดาวัดด้วยสีสันต่างๆ ทำให้วัดดูมีชีวิตชีวามากขึ้น แต่งชุดลำลองเรียบง่าย เน้รสีพื้น มาถ่ายรูปคือดี เหมือนย้อนยุคสุดๆ 

หลังเจดีย์หลวงไปหน่อยมีพระพุทธรูปปางต่างๆ 7 วัน ทำให้เมื่อมากับเพื่อนฝูง คนรัก หรือครอบครัว ไม่ต้องแยกกันไปไหว้พระที่อื่น เพราะที่นี่ครอบคลุมทุกวันเกิดแล้วค่ะ ที่เด็ดไปกว่านั้นวัดแห่งนี้มีพระเจ้าทันใจอีกด้วยนะ ไม่ต้องบินไปกราบไหว้ถึงประเทศเมียนมาร์แล้วค่ะ มาขอโชคลาภที่นี่ก็ปังไม่แพ้กัน ตั้งจิตอธิษฐานให้ดีนะ เพราะบางคนออกไปจากที่นี่แล้วมีแต่ความเป็นสิริมงคล หยิบจับล็อตเตอร์รี่ใบไหนก็ปังทุกใบ แต่ถูกแล้วก็อย่าลืมนำกลับมาทำนุบำรุงศาสนาตามกำลังนะคะ ยิ่งให้ยิ่งได้ 

ขอบคุณภาพจาก

ขอบคุณภาพจาก

ขอพาเข้าไปชมอุโบสถสักนิดละกันนะคะ ภายในอุโบสถสร้างได้อย่างอลังการมาก แค่เสาแต่ละต้นก็กินขาดความหรูหราแล้ว ดูมีสง่าราศีสุดๆ แต่ละเสามีรายละเอียดทางด้านศิลปะตั้งต้นจรดปลาย เสาตั้งตรงยกสูง ทำให้ภายในอุโบสถนั้นดูโปร่งโล่ง และอากาศถ่ายเทดีมาก ทำให้ไม่ร้อน แม้จะเข้าไปกราบสักการะพระพุทธรูปในตอนกลางวันก็ตาม

ขอบคุณภาพจาก

ขอบคุณภาพจาก

นอกจากนี้แล้วภายในวัดยังมีพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ ว่ากันว่าหากได้กราบพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ความศรัทธาของผู้กราบไหว้และความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปจะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับดวงผู้สักการะ ไม่แน่ใจว่าเป็นกุศโลบายหรือไม่ แต่บางอย่างถ้าทำแล้วสบายใจ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ผิดกฏหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ก็ไม่ต้องหาคำตอบให้ปวดหัวค่ะ  

ขอบคุณภาพจาก

ส่วนบริเวณทางเดินของวัดนั้นสะอาดสะอ้าน ดูสบายตา แถมยังมีต้นไม้ถูกปลูกเอาไว้เป็นจุดๆ แต่ที่เด่นสุดๆ และอยู่คูวัดนี้มานานหลายปีแล้ว ก็คงจะไม่พ้นต้นยางนาที่มี่ความสูงไล่ใกล้เคียงกันกับองค์พระธาตุ ต้นยางต้นนี้ตั้งอยู่เกือบๆตรงจุดศูนย์กลางของทางเดิน จะได้ให้เปรียบ ก็เสมือนกับเป็นต้นไม้รุ่นพี่ของต้นอื่นๆ

ขอบคุณภาพจาก

มาทั้งทีก็ต้องกวาดให้หมด ใกล้ๆกันแบบสุดๆที่อยากให้ไปกราบไหว้สักครั้ง ก็คือ เสาหลักเมืองเชียงใหม่ หรือเสาอินทขิลนั่นเอง ลักษณะขอสถานที่แห่งนี้รับอารมณ์ล้านนาเข้าให้เต็มๆ ทั้งลักษณะการสร้าง โทนสีที่ใช้ และการประดับสถานที่ อาจจะพูดได้เลยว่าล้านนาเพียวๆไม่เกี่ยวกับใคร และสถานที่แห่งนี้เขาใช้ทำพิธีกรรมเพื่อเสริมดวงเมืองอีกด้วย ประวัติของเสาอินทขิลสนุกมาก สนุกสุดๆ ลองหาอ่านกันดูได้

ขอบคุณภาพจาก

ค่าเข้า
– ฟรีสำหรับชาวไทย
– สำหรับชาวต่างชาตินั้นคนละ 40 บาท  
เวลาทำการ
– เปิดทุกวัน 05.00 – 22.30 น.
สอบถามเพิ่มเติม
– 053-814-308  
การเดินทาง
วัดเจดีย์หลวงตั้งอยู่ที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ การเดินทางถ้าขับรถยนต์ส่วนตัวมาเองแนะนำว่าให้ใช้ Google Map เพราะผังเมืองของเชียงใหม่ค่อนข้างฉงน ถ้าเป็นคนนอกพื้นที่จะบอกว่า ต้องมีหลงคูเมืองกันบ้าง หลงถนน หลงเลนส์กันบ้าง 
– สี่ล้อแดง โบกได้เลยค่ะ ต่อรองราคาก่อนขึ้นให้ดีนะคะ เพราะบางครั้งอาจทำให้เข้าใจกันผิดได้ ที่สำคัญแนะนำให้เช็คระยะทางจากที่ที่จะขึ้นรถสี่ล้อแดงก่อนว่าไกลกันมากไหม ถ้าไม่ไกลกันมาก ประมาณในรัศมี 1 – 3 กิโล ราคาต่อคนไม่ควรเกิน 40 บาท แต่ส่วนมากควรจ่ายที่ 20 บาทด้วยซ้ำ เพราะสี่ล้อแดงเขาจะขับเรียงไปตามจุดหมายของผู้โดยสารแต่ละคนอยู่แล้ว อาจทำให้ช้าหน่อย แต่ราคาถูก ถ้ามาหลายคนแนะนำให้เหมาค่ะ เพียงแต่ต้องตกลงราคาให้ชัดเจนกันก่อนเท่านั้น  

 

คุณพึงพอใจกับโพสต์นี้หรือไม่

ให้คะแนนโพสต์

ความพึงพอใจโดยรวม 4.8 / 5. นับคะแนน 131

โพสต์ยังไม่มีคะแนน คุณสามารถเป็นคนแรกที่ให้คะแนนเรา