แนะนำเที่ยววัดอรุณราชวราราม รีวิวงามของสถาปัตยกรรม มุมไหนที่ต้องตำ ทางเรามีคำตอบให้กับคุณ

กรุงเทพมหานครฯ เป็นมหานครที่มีครบครันทุกๆอย่าง สมกับเป็นเมืองขึ้นชื่อระดับประเทศ และสมศักดิ์ศรีแก่การเป็นเมืองหลวงของเมืองไทยจริงๆ แม้กรุงเทพมหานครฯ จะเป็นเมืองที่วุ่นวายสำหรับใครๆหลายคน แต่รู้ไหมว่าเมืองแห่งนี้แฝงความมีเสน่ห์ในด้านต่างๆเอาไว้อย่างปิดไว้ไม่มิด ไม่ว่าจะเป็นเสน่ห์ทางด้านอาหารที่ขึ้นชื่อ ติดดาวมิชลิน ด้านวัฒนธรรมในป่าปูน หรือแม้แต่ศิลปะทางด้านศาสนาก็ตาม ซึ่งในบทควาทนี้ทางเราขอเชื้อเชิญทุกท่านให้มาสัมผัสกับความสวยงามของ “วัดอรุณราชวราราม”

ขอบคุณภาพจากวัดอรุณราชวราราม

วัดอรุณราชวราราม หรือ “วัดอรุณ” แบบที่คนทั่วไปเรียกกันสั้นๆ หรือมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันติดปากไม่น้อยคนว่า “วัดแจ้ง” นั่นเอง แต่ในที่นี่เราขอแทนสถานที่ทาศาสนาอันวิจิตรแห่งนี้สั้นๆว่า ” วัดอรุณ” วัดอรุณ เดิมทีเริ่มแรกนั้น คือ วัดมะกอก เพราะตัววัดสร้างอยู่ในตำบลมะกอกนั่นเอง แต่ได้ใช้ชื่อมะกอกไม่นานนัก จู่ๆก็มีวัดใหม่สร้างขึ้นในตำบลมะกอกเดียวกันนี่แหละค่ะ จากวัดมะกอกเดิม จึงกลายมาเป็นวัดมะกอกนอกตามการตั้งชื่อแบบเรียบง่ายของชาวบ้าน จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จมาถึงวัดแห่งนี้ในยามเช้า พระอาทิตย์ค่อนข้างแจ่มแจ้ง จึงได้มีการนิยามวัดแห่งนี้ว่า “วัดแจ้ง” และทรงโปรดเกล้าฯให้ขยายอาณาเขตสร้างพระราชวังในวัดแห่งนี้ด้วย

แต่เหตุการณ์ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้นะคะ หลังจากนั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนพระบิดาสวรรคต เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรจึงขึ้นครองราชเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อเนื่อง และได้พระราชทานชื่อวัดแห่งนี้ใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” ชื่อดังกล่าวได้รับการใช้มาตั้งแต่นั้นจนถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์ท่านได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้เป็นการใหญ่และพระราชทานพระนามของวัดแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” เห็นไหมเอ่ย กว่าจะมีชื่อวัดเป็นทางการมาจวบจนปัจจุบันนี้ ผ่านมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 

หากมาถึงควรสักการะรูปปั้นพระเจ้าตากสินมหาราช ว่ากันว่าใครที่กำลังรู้สึกว่าดวงไม่ดี ดวงตก เจอแต่เรื่องแย่ๆ ทำอะไรก็ดูย่ำแย่ มีอุปสรรคไปซะทุกอย่าง หรือดวงการเงินมีปัญหา ธุรกิจกิจการไม่รุ่งเรื่อง เงินฝืดเคือง หากได้มาสักการะ พระเจ้าตากสินมหาราชที่วัดอรุณ จะทำให้ดวงการเงินค่อยๆดีขึ้นจนสังเกตได้ ทางเราไม่รู้จะหาหลักฐานไหนมาฟันธง แต่หากคุณผู้อ่านกำลังประสบปัญหาด้านการเงินอยู่ การมาสักการะพระองค์ท่านไม่ใช่เรื่องเสียเปล่า อย่างน้อยมีที่พึ่งทางจิตใจ ก็ยังดีกว่าไม่มีที่พึ่งอันใดเลย จริงไหมคะ? หลังจากนั้นก็จงตั้งสติกับทุกอย่างจึงจะดี

ต่อด้วยสถาปัตยที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอย่างพระปรางค์องค์ใหญ่ ที่สามารถมองเห็นจากแม่น้ำเจ้าพระยาอีกฝั่งได้ละกันค่ะ พระปรางค์ใหญ่องค์นี้มีความสูงประมาณ 82 เมตรเชียวนะ แถมเคยเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสูงที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ และครองสถิติเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในโลกจวบจนปัจจุบันอีกด้วยนะ แม้ปัจจุบันมีตึกอื่นๆทุบสถิติไปแล้ว แต่อยากให้ฉุกคิดดูว่า คนสมัยก่อนสร้างได้ขนาดนี้ ถือว่าเจ๋งมากๆแล้วค่ะ ลักษณะของพระปรางค์วัดอรุณเน้นการใช้สีขาวเป็นโทนหลัก ตกแต่งด้วยกระเบื้องสีเหลือง น้ำเงิน เขียว ส่วนบัวรอบพระปรางค์นั้นใช้สีแดงทั้งหมด จะสวยที่สุดก็เมื่อแสงอาทิตย์สะท้อนเข้ากับกระเบื้องสีบนตัวพระปรางค์ และกระเบื้องสีท้อนแสงอาทิตย์ลงแม่น้ำเจ้าพระยาอีกต่อหนึ่ง เป็นอีกหนึ่งความสวยและซิกเนเจอร์ของกรุงเทพมหานครฯ ที่ชาวไทยและชาวต่างชาติให้ความนิยมในการมาเยือน 

 
มาเที่ยววัดอรุณทั้งที่ ทางเราก็อยากชำแหละความหมายของพระปรางค์แต่ละชั้นให้คุณผู้อ่านได้ลิ้มรสความเป็นสิริมงคลกันแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย พระปรางค์วัดอรุณมีด้วยกัน 4 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นมีความที่แตกต่างกันออกไป มาดูกันเถอะว่าแต่ละชั้นนั้น ช่วยเสริมความสิริมงคลให้แก่ผู้สักการะในด้านใด และแบบใดบ้าง มาเริ่มกันที่ชั้น 1 เลยดีกว่า

ชั้นหนึ่ง เป็นลานกว้าง มีพระปรางค์บริวารทั้ง 4 องค์ล้อมรอบพระปรางค์องค์ประธาน อย่างที่กล่าวไปข้างต้น แต่ละปรางค์ถูกสร้างเอาไว้ทิศละ 1 องค์พระปรางค์ ถูกจัดแจงให้อยู่ตรงมุมของพระปรางค์องค์ประธานเป๊ะทั้ง 4 องค์ หากมองไปที่เชิงบาตร มีการจัดวางรูปปั้นวานรกระบี่และรูปปั้นมารสลับกัน เสมือนเหล่ามารและวานรกระบี่ต่างพร้อมใจแบกพระปรางค์องค์ประธานเอาไว้เหนือหัวด้วยท่านั่งยอง ถ้าใครเป็นจิตรกรจะรู้เลยว่าความประณีตในการสรรค์สร้างนั้นให้เต็มร้อย 

ด้วยต่อชั้น 2 เสมือนเป็นศาสนาสถานที่รวบรวมพระพุทธรูปปางต่างๆเอาไว้ ทั้งพระพุทธรุูปขนาดน้อยใหญ่ แต่หลักแล้วจะมีพระพุทธรูปประจำทิศ 4 ปางด้วยกัน ทิศเหนือ คือ พระพุทธรูปปางประสูติ ทางทิศตะวันออก คือ พระพุทธรูปปางตรัสรู้ ทิศตะใต้ คือ ปางปฐมเทศนา และทิศตะวันตก คือ ปางเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน จะเห็นได้ว่าการจัดวางนั้น หมุนไปตามเข็มนาฬิกา และปางที่ถูกจัดวางนั้น เป็นไปตามเรื่องราวในพุทธประวัติ

ชั้น 3  มีเพียงความสวยงามที่บอกเล่าความเป็นมาและการเดินทางของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ กว่าจะมีสถาปัตยกรรมที่งามวิจิตรเยี่ยงพระปรางค์ในวัดอรุณนั้น ต้องผ่านการเดินทางมาแล้วหลายหมื่นลี้ กระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ที่เราเห็นว่าสวยงามนั้น พอจะคุ้นตาคุณผู้อ่านบ้างไหมคะ? หากนึกไม่ออกจะบอกให้ก็ได้ว่า ชั้นสามนี้เป็นส่วนที่ทำให้เห็นความประณีตของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ เพราะว่ากระเบื้องเคลือบสีสันต่างๆนั้น ทางไทยเราได้นำเข้าจากจีนในสมัยก่อน มีลายเบญจรงค์ คล้ายถ้วยชามในสมัยอยุธยา นอกจากนี้บริเวณเชิงบาตรของพระปรางค์ ยังมีรูปปั้นวารนรแบกสถาปัตยกรรมอีกด้วย นับเป็นความเก๋ไก๋ทางด้านศิลปะที่ส่งต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน 

ขอบคุณภาพจากวัดอรุณราชวราราม

ชั้น 4 เป็นชั้นรวมนานาเทพเลยก็ว่าได้ เริ่มจากซุ้มคูหาที่ภายในซุ้มมีรูปปั้นพระอินทร์กำลังทรงช้างเอราวัณ มีท่าทีน่าเกรงขาม และดูสง่างามไปพร้อมๆกัน ด้วยการลงสีเขียวหยกบนตัวพระอินทร์ตามความเชื่อ ซึ่งซุ้มคูหามีทั้ง 4 ทิศ และทั้ง 4 ทิศนั้นประกอบไปด้วยรูปปั้นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เหนือพระอินทร์ไปมีรูปปั้นพระพรหมประดับเอาไว้เสมือนแบกยอดพระปรางค์องค์ประธานเอาไว้ เหนือขึ้นไปอีกบริเวณเชิงบาตรมีรูปปั้นพญาครุฑสีแดง ดูดุดันมาก ดูน่าเกรงขามสุดๆ และเหนือพญาครุฑองค์แดงทั้งหลายขึ้นไปนั้นมีพระนารายณ์อยู่เบื้องบนตรงเชิงบาตร หากมองมาจากที่ไกลๆ จะเห็นเสมือนกับว่าพระนารายณ์กำลังทรงครุฑอยู่นั่นเอง 

แต่หากมาถึงวัดอรุณแล้ว มาไม่ถึงซิกเนเจอร์ของวัดอย่างยักษ์วัดแจ้ง ที่ประชาชนเรียกติดปากกันนั้น ถือว่ามาไม่ถึงนะ เพราะว่ายักษ์สองตนนี้อยู่ตรงซุ้มประตูมงกุฏ ประกอบด้วย สหัสเดชะ  และทศกัณฑ์นั่นเอง รายละเอียดของยักษ์ทั้งสองนั้นเอาเรื่องอยู่นะ เพราะการประดับประดานั้นต้องใช้ความตั้งใจและความแม่นยำในด้านศิลปะ จึงทำให้ยักษ์ทั้งสองตนที่ดุดันในวรรณคดี ดูสง่างามและน่าเกรงขามได้ขนาดนี้ และที่อยากจะบอกกล่าวคือ หากคุณผู้อ่านเป็นคนที่เชื่อในเรื่องโชคลาง ไสยศาสตร์ บอกเลยว่า แนะนำให้ถ่ายรูปยักษ์สองตนนี้เอาไว้ และนำมาแปะเอาไว้หน้าบ้าน จะทำให้สิ่งของไม่ดี ที่ถูกส่งมาจากคนที่คิดปองร้ายเข้าบ้านไม่ได้ อันนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ใครใคร่เชื่อ เชื่อ ใครไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ 

ค่าเข้า
– สำหรับชาวไทยฟรี
– สำหรับชาวต่างชาติมีค่าเข้า 100 บาท
เวลาทำการ
เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.30 น.
ติดต่อ
Facebook 
เว็บไซต์
– โทรฯ 0 2891 2185 
การเดินทาง
วิธีการเดินทางมีหลากหลายทางเลือกด้วยกันดังนี้
1.ขึ้น BTS มาลงตรงวงเวียนใหญ่ จากนั้นแนะนำว่าให้นั่งแท็กซี่ตรงไปยังวัดอรุณได้เลยค่ะ 
2.ขึ้น BTS มาลงที่สะพานตากสิน จากนั้นเดินเท้าไปยังท่าเรือสาธร หากไม่ทราบให้ถามคนแถวนั้นดูก็ได้ค่ะ ให้ขึ้นเรือแล้วไปลงท่าวัดอรุณ 
3.ขึ้น BTS มาลงที่สะพานตากสิน จากนั้นเดินเท้าไปยังท่าเรือสาธร แล้วให้ไปขึ้นที่ท่าเตียง แล้วนั่งเรือข้ามฟากจากท่าเตียนมายังวัดอรุณก็ได้เช่นกันค่ะ
4.หากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวแนะนำว่าให้ใช้ Google Map ท่านสามารถจอดรถในวัดยานนาวาได้นะ จากนั้นเดินมายังวัดอรุณได้เลย เพราะไม่ได้ไกลกันสักเท่าไหร่ แถมค่าจอดยังไม่แพงอีกด้วย เพราะค่าจอดเป็นราคาเหมาๆหลักสิบ สามารถจอดได้ทั้งวัน เที่ยวชมวัดได้อย่างไม่ต้องกังวลกับค่าที่จอดแน่นอน 

คุณพึงพอใจกับโพสต์นี้หรือไม่

ให้คะแนนโพสต์

ความพึงพอใจโดยรวม 4.9 / 5. นับคะแนน 121

โพสต์ยังไม่มีคะแนน คุณสามารถเป็นคนแรกที่ให้คะแนนเรา